Saturday, May 20, 2023

Saurus Warrior (Finished)

ช่วงที่ผ่านมายุ่งกับหลายๆเรื่อง เลยพึ่งมีเวลามาเพ้นท์งานชิ้นนี้ต่อจนเสร็จครับ น่าจะเป็นงานที่เสร็จสมบูรณ์ชิ้นแรกของปีนี้เลย 😅 ชิ้นนี้ตั้งใจทำเพื่อบริจาคให้กับมูลนิธิ NOVA Open Charitable Foundation (NOCF) สำหรับเป็นของรางวัลในการจับสลากการกุศล ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีช่วงหน้าร้อนของที่นี่ และรายได้จากการขายสลากจะนำไปบริจาคให้กับองค์กรต่างๆ เช่น Breast Cancer Research Foundation, Doctors Without Borders, Fisher House Foundation เป็นต้น สำหรับท่านที่สนใจอยากมีโอกาสได้เป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้ ไว้ถึงเวลาเริ่มขายสลากเมื่อไหร่จะมาแจ้งให้ทราบกันอีกครั้งครับ

การทำสีงานชิ้นนี้ ในส่วนของสีผิวและเกร็ดบนตัวใช้สี AK 3rd Gen เป็นหลัก สีผิวเป็นการผสมจากสี Archaic Turquoise กับสี Lime Green เพื่อให้ได้สีผิวโทนฟ้าอมเขียวแบบที่ตัวเองต้องการ ส่วนสีของโลหะทั้งอาวุธและเครื่องประดับใช้วิธีการเพ้นท์แบบ TMM (True Metallic Metal) โดยใช้ชุดสีเมทัลลิคของ Scale 75 Metal N' Alchemy Golden Series กับชุดสีหมึก Inktensity ซึ่งการเพ้นท์แบบ TMM ก็จะคล้ายๆกับการเพ้นท์ NMM คือต้องมีการจำลองแสงและเงาเพื่อให้เกิดมิติบนชิ้นงาน เพียงแต่การเพนท์ด้วยสีเมทัลลิคจะมีความมันวาวและสะท้อนแสงในตัวเองอยู่แล้ว จึงเน้นที่การเพิ่มส่วนของเงาและเน้นแสงที่ตกกระทบตามขอบมุม เพื่อให้แสงเงาบนชิ้นงานดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด 

ลองดูตามภาพตัวอย่างขั้นตอนการเพ้นท์ส่วนที่เป็นโลหะบนอาวุธ 

1. เพ้นท์สีพื้นด้วยสีทอง Dwarven Gold 

2. ใช้สีหมึก Inktense Black ผสมกับ Inktense Wood เพ้นท์ส่วนที่เป็นเงาเข้ม สีหมึกมีเนื้อสีที่บางต้องทาทับกันหลายรอบถึงจะได้สีที่เข้มตามที่ต้องการ แต่ด้วยเนื้อสีที่บางทำให้สามารถทาเกลี่ยให้สีเข้มดูกลืนกับสีพื้นได้ง่าย 

3. นำสีทองไปผสมกับ White Alchemy ซึ่งเป็นสีขาวผสมกับเกล็ดโลหะ เมื่อผสมกันแล้วจะทำให้สีทองดูสว่างขึ้น นำไปเพ้นท์ตามส่วนที่ต้องการเน้นให้แสงตกกระทบและตามขอบมุมต่างๆ 

4. ข้อเสียของสีหมึกคือจะมีความมันเงามาก และทำให้ส่วนของเงามืดนั้นดูไม่สมจริง ใช้สีเคลียร์หรือวานิชแบบกึ่งเงากึ่งด้าน (Satin) มาทาเคลือบบางๆที่บริเวณเงาเข้มอีกที จะช่วยทำให้การสะท้อนแสงดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น เป็นอันเสร็จครับ 

วิธีในการเพ้นท์ TMM ของตัวเองหลักๆก็จะเป็นประมาณนี้ บางครั้งอาจจะมีการใช้สีหมึกผสมลงในสีเมทัลลิคเลย หรือใช้สีเมทัลลิคมาผสมกันเพื่อให้ได้โทนสีเข้มอ่อนต่างกันสำหรับใช้ในการให้แสงเงาก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่างานชิ้นนั้นต้องการความละเอียดในการเพ้นท์มากน้อยแค่ไหน ยิ่งต้องการความละเอียดมากก็ยิ่งมีขั้นตอนเยอะและใช้เวลาในการเพนท์นานมากขึ้นไปด้วย 

ที่สำคัญคือไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้สียี่ห้อนี้หรือสีชุดตามที่เขียนไว้ในการเพ้นท์ TMM เท่านั้น จะใช้สีเมทัลลิคยี่ห้ออื่นๆแล้วใช้สีวอชหรือเฉดในการกำหนดแสงเงาก็ไม่ผิดแต่ประการใดครับ 

หวังว่าวิธีการเพ้นท์ TMM นี้คงจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ถ้ามีอะไรสงสัยเพิ่มเติมก็ลองสอบถามกันมาได้ครับ

ช่วงนี้ที่ไม่ได้อัพเดทงานใดๆเลย เนื่องจากงานที่ทำอยู่ยังไม่สามารถเผยแพร่ได้ จริงๆนั่งเพนท์แทบจะทุกวัน อีกไม่นานคงจะได้นำมาลงให้ชมกัน คอยติดตามกันได้ว่าจะเป็นตัวอะไร แล้วพบกันใหม่เร็วๆนี้ครับ

Note: Products free of charge, sponsored by Games Workshop























Thursday, May 18, 2023

Basic Tips: 002 การแบ่งสเกลหรือขนาดในงานมิเนียเจอร์และฟิกเกอร์

เนื่องจากเห็นมีคนถามถึงเรื่องนี้และคิดว่าหลายๆท่านอาจจะยังไม่ทราบ เลยเขียนรวบรวมมาให้เท่าที่ทราบครับ

การแบ่งสเกลหลักๆจะนิยมใช้อยู่ 2 แบบคือ

1. แบบขนาดความสูงเป็นมิลลิเมตร (ขนาดของความสูงวัดจากเท้าถึงดวงตา) นิยมใช้เรียกกับโมเดลสองประเภทคือ

• Miniature Wargames (Tabletop, Board Games) นิยมเรียกเป็นขนาดตามความสูงคือ 28mm (ประมาณ 1/55) หรือ 30mm (1/48) 

• Figure, Figurine, Miniature ทั้งประเภท Historical และ Fantasy นิยมเรียกเป็นขนาดตามความสูง ขนาดที่นิยมคือ 

- 54mm (ประมาณ 1/32)

- 75mm (ประมาณ 1/24)

- 90mm (ประมาณ 1/20)

- 120mm (ประมาณ 1/16)

2. แบบขนาดเทียบเป็นมาตราส่วนต่อของจริง นิยมใช้เรียกกับโมเดลประเภทที่จำลองมาจากสิ่งที่มีอยู่จริง เช่น รถยนต์ เครื่องบิน เรือ คน ฯลฯ 

ในงานประเภท Miniature หรือ Figure จะนิยมใช้กับโมเดลสองประเภทคือ

• Military Figure หรือฟิกเกอร์แนวทหารที่จำลองมาจากทหารในยุคใหม่นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน มาตราส่วนที่นิยมมากที่สุดคือขนาด 1/35 (ความสูงประมาณ 51mm) และขนาด 1/16 (ความสูงประมาณ 120mm) นอกจากนี้ก็จะมีขนาด 1/48 และ 1/72 ซึ่งเป็นขนาดที่นิยมสำหรับงานสเกลโมเดลประเภทรถถังและเครื่องบิน

• Non-Military Figures ฟิกเกอร์พลเรือนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทหารหรือประวัติศาสตร์ นิยมทำออกมาเพื่อใช้ประกอบกับชุดจำลองประเภทต่างๆ เช่น 

มาตราส่วน 1/35 สำหรับโมเดลประเภทฉากจำลองและยุทธยานยนต์ 

มาตราส่วน 1/24 สำหรับโมเดลประเภทรถยนต์

มาตราส่วน 1/12 สำหรับโมเดลประเภทรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

• Bust ทั้งประเภท Historical และ Fantasy นิยมเรียกเป็นมาตราส่วนขนาด 1/12 (ประมาณ 150mm ) และขนาด 1/9 (ประมาณ 200mm) หรือ 1/10 (ประมาณ 180mm) 

*ในส่วนของงานประเภทบัส บางยี่ห้อจะใช้เรียกตามขนาดความสูงเป็นมิลลิเมตร เช่น 200mm ซึ่งหมายถึงขนาดความสูงของบัสตัวนั้นในกรณีที่ปั้นแบบเต็มตัว แต่ขนาดของตัวบัสจริงๆอาจจะสูงแค่ 80-90mm เท่านั้น

นอกจากนี้การใช้ขนาดเทียบเป็นมาตราส่วนต่อของจริง ยังนิยมใช้เรียกในงานโมเดลที่เป็นชุดจำลองแทบจะทุกประเภท แบ่งเป็นตามความนิยมดังนี้

- AFV Models โมเดลรถถังหรือยุทธยานยนต์ทางบกทุกประเภท ขนาดที่นิยมมากที่สุดคือ มาตราส่วน 1/35 นอกจากนั้นจะมีมาตราส่วน 1/48, 1/72, 1/144 

- Aviation Models โมเดลอากาศยานประเภทต่างๆทั้งทางทหารและพลเรือน ขนาดที่นิยมคือ มาตราส่วน 1/72, 1/48, 1/32, 1/144 

- Car Models โมเดลรถยนต์ประเภทต่างๆ ขนาดที่นิยมคือ มาตราส่วน 1/20, 1/24, 1/64 ไปจนถึงขนาดใหญ่แบบ 1/8

- Motorcycle Models โมเดลรถจักรยานยนต์ประเภทต่างๆ ขนาดที่นิยมคือมาตราส่วน 1/12, 1/9

- Ship Models โมเดลเรือและยานพาหนะทางน้ำทุกประเภท ขนาดที่นิยมคือ มาตราส่วน 1/700, 1/350, 1/72 

- Sci-Fi Models โมเดลยานรบในอนาคตหรือหุ่นยนต์ประเภทต่างๆ จากทั้งภาพยนตร์, การ์ตูน, หรือจินตนาการขึ้นมาเอง ขนาดที่นิยมมีหลากหลายตามแต่ละประเภทของโมเดล ตั้งแต่มาตราส่วนที่เล็กมากๆอย่างเช่นขนาด 1/1000 สำหรับบนฝานอวกาศขนาดใหญ่ หรือขนาด 1/100 และ 1/144 สำหรับหุ่นยนต์กันดั้ม ไปจนถึงขนาด 1/12 สำหรับจักรยานยนต์ในโลกอนาคต เป็นต้น

- Diorama โมเดลฉากจำลองประเภทต่างๆ ขนาดที่นิยมคือ มาตราส่วน 1/35, 1/48, 1/72, 1/144 เป็นต้น

และยังมีโมเดลที่ได้รับความนิยมประเภทอื่นๆอีกที่ใช้การเรียกตามมาตราส่วนต่อของจริง เช่น โมเดลรถไฟจำลอง ที่จะมีชื่อเรียกขนาดโดยเฉพาะคือ O Scale (1/48), HO Scale (1/87), N Scale (1/160) เป็นต้น 

รวมไปถึงโมเดลอนิเมจากการ์ตูนและโมเดลจากภาพยนตร์ ซึ่งโดยส่วนมากจะมีขนาดใหญ่กว่างานมิเนียเจอร์ เช่น มาตราส่วน 1/12, 1/8, 1/6 เป็นต้น ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของกลุ่มนี้เลยขอละเอาไว้ครับ

นี่คือข้อมูลทั้งหมดเท่าที่พอจะนึกออก ถ้าท่านไหนมีข้อมูลเพิ่มเติมหรือสงสัยในจุดไหนก็สอบถามกันได้นะครับ หวังว่าข้อมูลทั้งหมดนี้คงจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังสนใจงานด้านนี้บ้างไม่มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่ครับ



Thursday, May 11, 2023

Basic Tips: 001 การถ่ายภาพเบื้องต้น (ด้วยโทรศัพท์มือถือ)

สวัสดีครับ เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นหลายๆท่านเริ่มนำผลงานมาลงเพื่อขอคำแนะนำในกลุ่มกันมากขึ้น แต่หลายครั้งมักจะถ่ายภาพมาไกลเกินไปหรือถ่ายมาไม่ชัด ซึ่งอาจทำให้การให้คำแนะนำนั้นทำได้ลำบากหรือทำได้ไม่ตรงจุดเพราะเห็นรายละเอียดไม่ชัดเจน ส่วนตัวชอบในไอเดีย #givemecomment และคิดว่ามันเป็นประโยชน์มากๆกับคนที่ต้องการจะพัฒนาผลงานของตัวเอง เลยอยากมาแนะนำวิธีการถ่ายภาพแบบเบื้องต้นเพื่อให้ลองนำไปทำกันดูครับ

สิ่งสำคัญในการถ่ายภาพงานมิเนียเจอร์ คือต้องเห็นรายละเอียดบนชิ้นงานและสีสันต่างๆได้ชัดเจน ภาพที่ถ่ายจึงควรมีขนาดใหญ่และโฟกัสไปที่ชิ้นงานเป็นหลัก ถ้ากล้องที่ใช้อยู่ไม่สามารถถ่ายภาพในระยะใกล้ได้ (Macro) ให้ถ่ายภาพในระยะที่ห่างออกมาหรือระยะโฟกัสที่ชัดที่สุด แล้วจึงค่อยใช้โปรแกรมตัดภาพ (crop) ส่วนพื้นที่รอบนอกที่ไม่จำเป็นออก เพื่อให้เห็นรายละเอียดบนชิ้นงานได้ชัดเจนมากที่สุด

สำหรับการถ่ายภาพของตัวเองที่ใช้อยู่เป็นประจำ ส่วนตัวไม่ได้มีความรู้เรื่องการถ่ายภาพสักเท่าไหร่ จึงมักจะใช้วิธีการถ่ายแบบง่ายๆด้วยโทรศัพท์มือถือ โดยแบ่งเป็น 2 แบบ 

1. การถ่ายภาพผลงานแบบจัดแสงและมีฉากหลัง สำหรับผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้วหรือถ่ายขั้นตอนการทำงานแบบละเอียดสำหรับบทความ จะใช้การถ่ายภาพแบบนี้ที่จะต้องถ่ายให้เห็นสีและรายละเอียดต่างๆบนชิ้นงานได้ชัดเจนมากที่สุด ส่วนตัวจะใช้กระดาษสีเรียบๆวางเป็นฉากหลัง ใข้โคมไฟส่องจากด้านบนและด้านข้างทั้งสองด้าน เพื่อให้เกิดเงาบนชิ้นงานให้น้อยที่สุด เวลาถ่ายภาพให้พยายามกดหน้าจอเพื่อโฟกัสรายละเอียดต่างๆ ถ้าสามารถปรับค่า f ได้ให้เลือกค่าสูงที่สุดเพื่อให้รายละเอียดนั้นชัดในทุกจุด(ชัดลึก ) บางครั้งอาจจะต้องถ่ายจากระยะที่ไกลหน่อยเพื่อให้โฟกัสภาพได้เต็มตัว แล้วค่อยใช้แอปมาตัดภาพ (crop) ให้เหลือเฉพาะรอบๆตัวงานพอ ส่วนรายละเอียดต่างๆค่อยมาถ่ายแบบใกล้มากขึ้นอีกที 

ในภาพที่ 1 จะเห็นว่าภาพที่ถ่ายมานั้นมีระยะโฟกัสที่ค่อนข้างห่างและมีความชัดตื้น ทำให้ได้ภาพระยะไกลมองเห็นรายละเอียดได้ไม่ชัดเจน และส่วนที่อยู่ด้านหน้าจะดูชัดกว่าส่วนที่อยู่ห่างออกไปทางด้านหลัง เช่นด้ามดาบ ขาขวา และปลายหาง นี่เป็นข้อจำกัดของกล้องมือถือที่ไม่สามารถปรับความชัดลึกได้เท่ากับกล้องมืออาชีพ 

ภาพที่ 2 หลังจากที่ crop พื้นที่ส่วนเกินรอบชิ้นงานออกให้เหลือเฉพาะรอบๆชิ้นงาน ชิ้นงานจะดูมีขนาดใหญ่เต็มภาพและเห็นรายละเอียดได้ใกล้และชัดเจนมากขึ้น รวมถึงทำให้เห็นว่าในส่วนของใบหน้านั้นไม่ถูกโฟกัสและดูเบลอ ซึ่งก่อนหน้านี้จะสังเกตได้ยากเพราะขนาดของชิ้นงานนั้นดูเล็กกว่านี้

ภาพที่ 3 คือภาพที่ถ่ายใหม่เพื่อให้ได้ความคมชัดของภาพและเห็นรายละเอียดต่างๆบนชิ้นงานได้ชัดเจนมากที่สุด การตัดภาพให้มีพื้นที่รอบชิ้นงานไม่มากจนเกินไปทำให้ชิ้นงานดูมีขนาดใหญ่ แม้ในบางจุดอาจจะดูเบลอไปบ้างด้วยข้อจำกัดของกล้อง แต่ก็ถือว่าน่าพอใจเพราะเห็นรายละเอียดต่างๆของสีและเทคเจอร์ได้ครบถ้วน 

ภาพที่ 4 เป็นงานอีกชิ้นที่ถ่ายด้วยกล้องตัวเดียวกัน แต่เนื่องจากท่าโพสของชิ้นงานนั้นอยู่ในระนาบเดียวกัน การโฟกัสของภาพให้มีความชัดลึกจึงทำได้สะดวกขึ้น และช่วยให้เห็นรายละเอียดทุกส่วนของชิ้นงานได้อย่างคมชัด

2. การถ่ายภาพเพื่อเช็คสีและรายละเอียดบนผลงาน ว่าเพ้นท์ออกมาแล้วเป็นอย่างไร การถ่ายแบบนี้จะถ่ายง่ายๆในขณะที่กำลังเพ้นท์อยู่ ไม่ได้มีการจัดแสงหรือมีกระดาษเป็นฉากหลัง แต่จะใช้ที่รองตัดเป็นฉากหลังแทนเพื่อให้เห็นรายละเอียดบนผลงานได้ชัดเจน ไม่โดนรบกวนจากสิ่งของที่อยู่ด้านหลัง แล้วใช้โคมไฟส่องลงบนโมเดลจากด้านบนและด้านข้างเพื่อลบเงาบนตัวให้น้อยลง

ในภาพที่ 5 จะเห็นว่าสีและรายละเอียดบนที่รองตัดนั้นไม่ได้วุ่นวายจนรบกวนรายละเอียดที่อยู่บนชิ้นงาน และแสงที่ส่องจากโคมไฟทั้งสองช่วยให้มองเห็นสีและรายละเอียดที่ทำเอาไว้ได้ดีขึ้น 

ภาพที่ 6 และ 7 จะเห็นว่าภาพที่ถ่ายมาเมื่อซูมเข้าไปใกล้ๆจะช่วยให้เห็นรายละเอียดต่างๆบนชิ้นงานได้ชัดเจนขึ้นมาก และจะช่วยให้เห็นข้อผิดพลาดหรือความไม่เรียบร้อยต่างๆได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยให้นำไปแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมได้ 

ส่วนตัวคิดว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาผลงานคือเราต้องรู้ถึงความผิดพลาดของตัวเอง ว่ามีส่วนไหนที่ไม่เรียบร้อยไม่สมบูรณ์ เพื่อที่จะได้นำไปแก้ไขปรับปรุงให้มันดีขึ้นกว่าเดิม การถ่ายภาพให้เห็นรายละเอียดของสีบนชิ้นงานได้อย่างชัดเจน จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราพัฒนาผลงานของตัวเองได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะหากต้องการคำแนะนำจากบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนที่พึ่งเริ่มต้นงานเพ้นท์หรือทำมาจนมีประสบการณ์แล้ว อย่ากลัวที่จะลงภาพงานที่ไม่เรียบร้อยให้คนอื่นเห็น ไม่มีใครที่เก่งมาตั้งแต่ต้น ถ้ายอมรับในความไม่สมบูรณ์ของผลงานตัวเองและตั้งใจปรับปรุงให้ดีขึ้น มันจะพัฒนาขึ้นได้อย่างแน่นอนครับ

หว่งว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ไว้ถ้ามีโอกาสและมีเวลาว่างอีกเมื่อไหร่ จะเขียนเบสิคทิปเบื้องต้นให้ได้อ่านกันอีกครับ










Thursday, May 4, 2023

Saurus Warrior (WIP 2)

ภาพเพิ่มเติมของ Saurus Warrior ที่กำลังทำอยู่ครับ งานชิ้นนี้ได้รับโจทย์มาให้ทำสีในแบบที่ดูแตกต่างไปจากต้นฉบับ เลยตัดสินใจลองทำสีแบบที่ไม่เคยทำมาก่อนดูบ้าง อย่างการเลือกใช้สีโทนร้อนโทนเย็นมาจับคู่เข้าด้วยกันเป็นสีหลักของชิ้นงาน เพื่อให้เกิดคอนทราสของสีและทำให้ชิ้นงานนั้นดูโดดเด่นน่าสนใจมากขึ้น โดยเลือกใช้สีเขียวอมฟ้าที่เป็นสีโทนเย็นมาเป็นสีผิว กับสีน้ำตาลส้มที่เป็นสีโทนร้อนมาเป็นสีของเกล็ดแข็งที่ติดอยู่ตามตัว 

งานชิ้นนี้ทดลองการจัดวางตำแหน่งของคู่สีและเพ้นท์แก้ไปมาอยู่หลายรอบ กว่าจะได้การจัดวางสีและคู่สีโทนน้ำตาลส้มและเขียวอมฟ้าแบบที่เข้ากันได้และดูลงตัวอย่างที่ตัวเองต้องการ สีที่ใช้หลักๆเป็นสีอะครีลิคของ AK 3rd Gen กับสีของ Vallejo Model Color  บางส่วน และสีเมทัลลิคของ Scale 75 ครับ 

ก่อนหน้านี้มีคนถามถึงวิธีการเพ้นท์ส่วนของดวงตาและหนามแหลมเอาไว้ วันนี้มีรูปที่เห็นรายละเอียดชัดมากขึ้นเลยนำมาให้ชมกันครับ

วิธีการเพ้นท์หนามแหลมบนหัวและด้านหลัง เริ่มจากรองพื้นด้วยสีน้ำตาลเข้ม ใช้สีน้ำตาลแดงทาปาดๆบริเวณส่วนโคนไล่ขึ้นตรงกลางหนาม จากนั้นใช้สีน้ำตาลแดงส้มทาตามขอบและลากเป็นเส้นเล็กๆจากโคนไปที่ปลายแหลม สุดท้ายใช้สีดำทาเกลซบริเวณปลายแหลมไล่ลงมาที่ตรงกลางหนาม ให้ส่วนปลายแหลมนั้นเป็นสีดำและค่อยๆไล่ระดับสีเป็นน้ำตาลเหมือนในภาพครับ วิธีการนี้จะใช้ในการทำสีของเกล็ดบนลำตัวด้วยเช่นกันแต่ตัดขั้นตอนการเกลซออกครับ

ส่วนวิธีการเพ้นท์ดวงตาตัวนี้ เริ่มจากทาสีแดงเข้มลงในร่องตาทั้งหมด ส่วนของดวงตาปั้นมาเป็นเม็ดกลมให้ใช้สีแดงสดทาลงบนดวงตา จากนั้นใช้สีส้มและเหลืองทาเกลี่ยส่วนล่างของดวงตาตามลำดับ ให้สีของส่วนด้านล่างของดวงตานั้นสว่างกว่าส่วนด้านบน แล้วใช้พู่กันจุดสีดำเล็กๆลงตรงกลางดวงตา สุดท้ายพยายามจุดสีขาวเล็กๆเป็นแสงสะท้อนข้างๆตาดำอีกทีเป็นอันเสร็จ

สิ่งสำคัญในการเขียนดวงตาขนาดเล็กคือ พู่กันขนสัตว์คุณภาพดี (ส่วนตัวใช้เบอร์ 1 หรือ 0) เพื่อให้การควบคุมปริมาณสีนั้นทำได้สะดวก, แว่นขยาย เพื่อช่วยให้เห็นรายละเอียดเล็กๆได้ชัดเจนมากขึ้น, และที่สำคัญคือมือที่นิ่งพอให้จุดสีเล็กๆได้ตามตำแหน่งที่ต้องการโดยไม่เลอะเทอะ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนควบคุมการใช้ปลายพู่กันเขียนหรือระบายสีจนชำนาญ สิ่งสุดท้ายคือความอดทนและมุ่งมั่นฝึกฝน แม้การเขียนดวงตาขนาดเล็กนั้นทำได้ยาก แต่ถ้าตั้งใจฝึกฝนไปเรื่อยๆวันหนึ่งก็จะสามารถทำได้อย่างแน่นอนครับ

งานชิ้นนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ยังเหลือส่วนที่ต้องเก็บรายละเอียดอีกบางจุด คิดว่าคงจะทำให้เสร็จได้ในเร็วๆนี้ แล้วจะนำภาพผลงานที่เสร็จสมบูรณ์มาลงให้ชม พร้อมๆกับอธิบายวิธีเพ้นท์สีโลหะด้วยสีเมทัลลิคแบบ True Metallic Metal (TMM) ให้อ่านกันครับ 

ปล. สีผิวจริงๆจะออกอมเขียวมากกว่านี้ (คล้ายกับรูปที่ลงก่อนหน้า) แต่พอถ่ายรูปคราวนี้มันดูอมฟ้ามากกว่าความเป็นจริง ไว้คราวหน้าจะพยายามถ่ายให้ใกล้เคียงอีกทีครับ